วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เมื่อสงสัย...เมื่ออยากรู้...แล้วทำไมไม่ถาม (เรื่องการศึกษา)

สวัสดีครับเพื่อนๆผู้ปกครองของน้องที่กำลังศึกษาอยู่ มีหลายท่านที่มีความสงสัยในเรื่องการศึกษา และได้ส่งคำถามมาหาผม แต่ส่วนมากปัญหาต่างๆนั้น มันเลยช่วงเวลาที่จะวางแผนปฏิบัติไปแล้ว อาทิเช่น การที่มาปรึกษาถึงเรื่องการเอาลูกเข้าโรงเรียนชั้นนำต่างๆ ที่ผมเคยเขียนมาในบทความแรกๆ แต่มาตอนที่เขาสอบคัดเลือกไปแล้ว ผมละจนใจจริงๆ การที่จะให้ผมแนะนำวิธีที่ต้องอาศัยวิทยายุทธ กำลังภายในที่จะไปบีบให้ทางโรงเรียนต้องรับลูกของท่านนั้น ผมค่อนข้างที่จะไม่เห็นด้วย ผมอยากให้ท่านติดต่อเข้ามาแต่เนิ่นๆ ดั่งเช่น ท่านมีลูกอายุประมาณ 3-4 ปี และมีความตั้งใจที่จะเอาลูกเข้าเรียนในโรงเรียนอัสสัมชัญ ท่านควรติดต่อมาแต่เนิ่นคือ ขณะที่ลูกเรียนอยู่ในชั้น อนุบาล 2 เทอมต้น เพื่อให้ท่านมีเวลาในการวางแผน ไม่ใช่ลูกของท่านกำลังเรียนอยู่ในชั้นอนุบาล 3 เทอมต้น แล้วจะไปทำอะไรได้ เพราะว่าเวลานั้น ผู้ปกครองทุกท่านก็กำลังวิ่งเส้นกันอยู่ทั้งนั้น หากท่านเป็นคนธรรมดาที่ ไม่มีคนรู้จักเป็นผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษา หรือเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าของโรงเรียนนั้นๆ ผมว่าท่านต้องมองหาโรงเรียนอื่นได้แล้วครับ โอกาศของท่านจะริบหรี่มาก แต่หากท่านได้พยายามเดินเรื่องแต่เนิ่นๆ มากกว่าคนอื่นเป็นปี ท่านก็จะมีโอกาศที่ดีที่ลูกจะได้รับเข้าเรียน การเตรียมตัวก็มีทั้งการเอาลูกไปกวดวิชา ใช่ครับเด็กอนุบาลก็ต้องกวดวิชาเหมือนกัน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการสอบ

จากนั้นท่านก็ต้องเริ่มดำเนินการสานสัมพันธไมตรีกับทางโรงเรียน โดยการไปช่วยงานต่างๆ ไม่ใช่ส่งแต่เงินไปนะครับ แต่ท่านต้องไปช่วยทำงานในสมาคมผู้ปกครอง โดยการทำในสิ่งที่ท่านถนัด หรือเป็นฝ่ายจัดหาทุน ซึ่งฝ่ายนี้มีหน้าที่หาเงินให้โรงเรียนอย่างเดียว แล้วก็จะเกิดคำถามขึ้นว่า จะทราบได้อย่างไรว่า เมื่อเราได้ไปบำเพ็ญประโยชน์ให้กับทางสถานศึกษาแล้ว เขาจะรับลูกของท่าน ขอตอบว่า ไม่มีการสัญญาใดๆทั้งสิ้น แต่ท่านต้องลงทุนทำสิ่งที่เป็นกุศล เพื่อที่สิ่งนั้นจะได้มาออกผลที่ลูกของท่านครับ ผมอยากเรียนให้ท่านทั้งหลายทราบนะครับว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยจะศรัทธากับการทำบุญ แต่มีอยู่หลายครั้งที่ผมได้มีโอกาศที่จะทำการกุศล โดยที่ตัวเองไม่ได้คาดคิดไว้ก่อน คือมีครูต่างจังหวัดมาหาและขอให้ผม ซึ่งไม่รู้จักครูทื่านนี้มาก่อน ช่วยจัดหาอุปกรณ์การเรียน อาทิ ดินสอ ปากกา สมุด ยางลบ เป็นต้น เพราะว่าทางราชการให้มาแต่ตำราการเรียน แต่ไม่ได้ส่งสิ่งของอย่างอื่นมาให้ ผมเห็นว่าเป็นสิ่งเล็กน้อยจึงให้เด็กไปจัดหามาให้ จากนั้น ทางโรงเรียนก็ได้ส่งจดหมายขอบคุณ แล้วลงลายมือชื่อเด็กมาให้ แค่นั้นผมก็ชุ่มชื่นหัวใจแล้ว แต่คงจะเป็นเพราะผลบุญที่ทำไว้จึงส่งผลให้ บรรดาลูกๆของผมเป็นเด็กเรียนดี ค่อนข้างเก่งทีเดียว ผมจึงขอเรียนให้ท่านทราบว่า การคิดที่จะทำความดี ไม่มีการการันตีผลตอบแทนหรอกครับ แต่ความดีนั้นๆจะส่งผลบุญมาที่ท่านและครอบครัว ช้าหรือเร็วแล้วแต่บุญกรรมของท่านเองครับ

จากที่พบมา ร้อยละ 90 ที่ท่านผู้ปกครองที่ได้ไปรับใช้โรงเรียนอย่างเต็มใจนะ ลูกมักเข้าได้ครับ

ในบรรดาโรงเรียนที่เข้ายากที่ผมเคยเอ่ยนามไปแล้วนั้น ทุกแห่งจะมีการเปิดประเภทเด็กที่มีอุปการะคุณกับทางสถานศึกษา แต่ว่า โควต้านี้ จะมีอยู่เพียง 10% ของจำนวนนักเรียนที่รับเข้าศึกษา ส่วนมากเด็กของผู้ที่มีชื่อเสียงมักจะได้ก่อน ต่อจากนั้นก็จะเป็นเด็กของพวกคหบดีใหญ่ๆ ต่อจากนั้นก็จะมาถึงท่านที่ช่วยโรงเรียนนี่แหละครับ หลายๆท่านอาจจะรู้สึกท้อแท้ว่า ตัวเองไม่ใช่คนสำคัญ ไม่มีเงินทองมากมาย แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ทางโรงเรียนใช่เป็นมาตรฐานวัดว่า เด็กคนไหนถึงเข้าเรียนได้ครับ ความเอาใจใส่ต่อโรงเรียน และความสนใจในการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งครับ

สิ่งสำคัญที่ท่านผู้ปกครองต้องทำคือ ท่านต้องหาครูที่จะมาเป็นติวเตอร์ให้กับลูกของท่าน ครูที่ท่านจะเลือกต้องมีคุณสมบัติที่เคยติวเด็ก และสามารถสอบเข้าโรงเรียนที่ลูกท่านจะเข้ามาแล้ว การที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าครูมีมากมาย แต่จะมีครูเพียงไม่กี่ท่านที่ คอยติดตามดูการสอบเข้าของโรงเรียนดังๆ และมีการตระเตรียมข้อสอบเก่าๆ เพื่อที่จะให้เด็กทดลองทำ การที่เด็กได้เคยผ่านการฝึกฝนให้ทำข้อสอบแต่เนิ่นๆนั้น ก็ทำให้เด็กไม่ประหม่าเวลาที่เข้าสอบจริง สำหรับเรื่องรายชื่อของครูนั้น ท่านต้องทำการบ้านเองนะโดยการสอบถามจากเพื่อนๆที่มีลูกเรียนอยู่ก่อนแล้ว ครูดีๆหายากครับ ค่าจ้างไม่แพงหรอกครับ ครูเหล่านี้มีความตั้งใจที่จะนำพาลูกๆของเราให้เข้าเรียนในที่นั้นๆได้ แต่ท่านต้องหาให้เจอครับ

ต่อจากนั้นท่านต้องมีการติดต่อกับทางโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ หลายท่านจะถามว่าทำอย่างไร ผมเองก็เคยเจอปัญหาประเภทนี้มาแล้ว และนอกจากลูกของตัวเองแล้ว ยังมีลูกของพี่สาวเอย ลูกของน้องชายเอย ลูกของเพื่อนอีก จนทางโรงเรียนนึกว่าผมมีอาชีพพาเด็กเข้าโรงเรียน เดินเข้าไปทีไรโดนมองหน้าแปลกๆทุกที ตอนหลังพอลูกจบจึงได้เลิกครับ วิธีที่จะเข้าไปติดต่อคือ ท่านต้องไปสอบถามว่า ทางโรงเรียนมีงานโรงเรียนในวันไหนบ้าง ทุกโรงเรียนจะมีวันที่จะจัดงานออกร้าน เพื่อหาทุนต่างๆ และมีการขายบัตรการแสดง มีการจัดแข่งโบวลิ่ง หรือการจัดแข่งแรลลี่ เป็นต้น ท่านต้องหาเวลาพาลูกไปอย่างสม่ำเสมอ และท่านต้องพาลูกไปหาท่านอธิการด้วยนะหรืออย่างน้อยก็ต้องเป็นอาจารย์ใหญ่ ไปเรื่อยจนกว่าทางโรงเรียนจะจำชื่อคุณได้ครับ















กิบัติไปแล้ว

วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ทำไมควรเลือกเรียน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ม.ธรรมศาสตร์

มีน้องๆหลายท่านที่กำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่า จะเลือกเรียนคณะสถาปัตย์ฯที่ไหนดี ผมอยากขอร่วมให้ข้อมูล เพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ ครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของน้องๆทั้งหลายครับ

เมื่อกล่าวถึงภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ น้องทุกท่านก็ต้องคิดถึง มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ นั่นคือ จุฬาลงกรณ จากนั้นก็ต้องเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนฯที่ลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่มีคนคิดถึงชื่อของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากคณะนี้เพิ่งเริ่มก่อตั้งมาไม่กี่ปี

ปัจจัยหลักที่น้องหลายๆท่านเลือกจุฬาฯ คือชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ความเก่าแก่ และการที่มีรุ่นพี่ก่อนๆที่สร้างชื่อเสียงมาในอดีต และอีกปัจจัยหนึ่งคือสถานที่ตั้ง ที่อยู่ใจกลางเมือง ในเมื่อหลายๆปัจจัยเป็นต่อหลายสถาบัน การที่คณะฯจะมีการพัฒนาให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเป็นประโยชน์ ในการย่นย่อเวลาของนิสิตในการทำงาน ก็ไมีมี เรื่องนี้ผมทราบมาจากเพื่อนนิสิตของลูกสาว เพราะว่าเนื่องจากบรรดาอาจารย์ที่สอนที่จุฬาฯ เป็นอาจารย์เก่าแก่ที่ทรงคุณวุฒิ การที่ท่านได้ร่ำเรียนมาอยางไรในอดีต ท่านก็จะปฏิบัติอย่างนั้นในปัจจุบัน ขอยกตัวอย่างเพื่อที่จะได้เห็นอย่างชัดเจน ทีธรรมศาสตร์ อาจารย์จะยอมให้นักศึกษาใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยในการเขียน ภาพเปอร์สเป็คตีพ สามมิติ หากท่านนึกไม่ออกว่าคืออะไร ผมขอแนะนำท่านให้ไปตามโครงการคอนโดมิเนียมต่างๆ เขาจะให้โบรชัวร์ภาพห้องตัวอย่าง หรือภาพตัวอย่างโครงการที่มีต้นไม่ ทางเดิน หรือภาพผู้คนที่กำลังดำเนินชีวิตอยู่ ที่จุฬาฯจะให้นิสิตใช้มือวาดและใช้สีน้ำลง อาจารย์จะไม่สนับสนุนให้นิสิตใช้คอมพิวเตอร์ช่วย ด้วยเหตุผลว่า เมื่อก่อนอาจารย์เรียนมาอย่างไร นิสิตต้องทำตามอย่างนั้น แต่ที่ธรรมศาสตร์ เขาไม่สนใจในวิธีการที่จะได้ภาพมาอย่างไร แต่อาจารย์จะเน้นที่ผลงานของนักศึกษาแทน ซึ่งทำให้น้องๆต้องไปขวนขวายเรียนการใช้โปรแกรมเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้ทำผลงานให้ดีถูกใจอาจารย์ เป็นต้น นี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆที่ลูกสาวได้พบมา เพื่อนร่วมโรงเรียนเก่าสมัยมัธยม ที่เรียนที่จุฬาฯ ได้มาบอกเล่าเรื่องนี้แก่ลูกสาวเอง

ที่จุฬาฯ เวลาว่าง รุ่นพี่จะมีกิจกรรมมาให้รุ่นน้องทำเสมอ ไม่ว่าเป็นการจัดละครเพื่อหาทุนของรุ่น หรือจับน้องวิ่งรอบสนาม หากท่านไปในช่วงเปิดเทอมต้น ท่านจะเห็นทั้งเด็กผู้ชายและหญิงใส่ชุดกีฬาวิ่งเป็นกลุ่มๆ ที่ธรรมศาสตร์ไม่มีเรื่องเช่นนี้ เวลาว่างที่ธรรมศาสตร์ ทุกคนมีอิสระที่จะเลือกทำตามใจตัวเอง ลูกสาวได้ไปร่วมกับวงดนตรีโฟร์คซอง และได้ร่วมซ้อมเมื่อมีเวลาว่าง ไม่มีการบังคับใดๆทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องนี้แตกต่างจากจุฬาฯ เอ......ผมควรที่จะพูดถึงสถาบันอื่นด้วย เมื่อผมเอ่ยชื่อลาดกระบัง คณะสถาปัตย์ จะขึ้นชื่อในเรื่องความเก่งทางด้านการทำแบบโมเดล เนี๊ยบและสมจริง แต่ข้อด้อยของสถาบันนี้คือสถานที่ตั้ง แต่ปัจจุบัน หากท่านคิดว่าไกล ขอให้ท่านคิดถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะว่าที่ตั้งอยู่ติดกัน และมีทางด่วนมอเตอร์เวย์ วิ่งถึง พร้อมทั้งในอนาคตอันใกล้นี้ สายรถไฟฟ้า แอร์ปอร์ตลิ๊งค์ก็จะเปิดใช้ ทำให้ท่านสามารถเดินทางจากมักกะสันได้อย่างสะดวกสะบาย

จากลาดกระบัง ก็ต้องกล่าวถึง มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่นี่มีชื่อเสียงมากทางด้านมัณฑนะศิลป์ แต่เนื่องจาก นักศึกษาปี 1 ต้องไปเรียนที่นครปฐม จึงไม่ค่อยมีผู้สนใจมากเท่าจุฬาฯ ผมยังไม่เคยไปแคมปัสที่นครปฐมเลย แต่ลูกสาวมีเพื่อนร่วมชั้นที่สนิทกันมาก ไปเรียน และเขาก็ชอบ แต่เรื่องความเข้มข้นของหลักสูตรก็ยังเป็นรองที่ธรรมศาสตร์ โดยดูจากการที่มีการประกวดทางด้านตกแต่งภายใน ประจำทุกปี ที่ลูกสาวไปร่วมแข่งขันตอนที่เรียนอยู่ในชั้นปีที่ 3 แต่เขาไปร่วมแข่งกับเด็กปี4 ของมหาวิทยาลัยอื่น เพราะว่าที่ธรรมศาสตร์มีหละกสูตร 4 ปีในขณะที่มหาวิทยาลัยอืนต้องเรียน 5 ปี เรื่องของการที่ย่นระยะการเรียนขึ้นมา 1 ปีนี้ ผมก็ค่อนข้างกังวลพอสมควร เพราะคิดว่าทาง ธรรมศาสตร์ จะทำการสอนได้ไม่ทั่วถึงเท่าที่อื่น แต่ลูกก็ได้มาบอกว่าที่อื่นนั่นแหละที่เรียนช้า เพราะมัวแต่ไปเน้นวิชาที่เด็กต้องใช้มือในการทำงาน ซึ่งเมือเรามองดูแล้วก็ใช่เลย เพราะว่าในช่วงปีแรกๆ อาจารย์จะให้เด็กฝึกหัดทำแบบจำลอง เพื่อที่จะได้มีความถนัด แต่ที่ธรรมศาสตร์ ไม่เน้นอย่างนั้น แลัลูกได้ไปทราบความจริงเมื่อเขาได้ไปดูงานในต่างประเทศ เขาได้ไปพบเห็นเครื่องมือทำโมเดล 3 มิติที่อเมริกา โดยเพียงแค่เราป้อนข้อมูลต่างๆเข้าในคอมพิวเตอร์ แล้วให้คอมฯสั่งไปยังเครื่องก็อบปี้ ที่เครื่องนี้มีกรรไกรตัดกระดาษอยู่ และสามารถตัดภาพด้านขวางและประกอบออกมาเป็นโมเดล 3 มิติได้ทันที หากท่านงง ท่านสามารถไปตามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล แล้วไปดูที่แผนกของเล่น ดูที่ภาพจิกซอร์ ท่านจะเห็นจิกซอร์ 3 มิติที่เมื่อเราต่อเสร็จออกมาเป็นรูปร่างของบ้านหรือปราสาท หรือรูปหอไอเฟลได้เลย นั่นคือทำมาจากเครื่องนี้อย่างไรครับ ดังนั้นการที่จุฬาฯให้เด็กมาฝึกหัดทำโมเดลนั้น ล้าสมัยไปเสียแล้ว ลองคิดดูว่า หากท่านเป็นลูกค้าเจ้าของโปรเจ็กอะไรก็ได้ ท่านจะอยากได้อะไร แบบที่ทำด้วยมือหรือ แบบที่ตัดมาจากเครื่องที่ดูเนี๊ยบไปหมด อีกทั้งความเร็วในการทำก็ต่างกัน สามถึงสี่เท่าตัว

เรื่องต่อ การเรียนที่ม.ธรรมศาสตร์ คณะสถาปัตย์

จากเนื้อความตามที่เล่ามา เมื่อคราวที่แล้ว ผมได้ติดตามสอบถามลูกสาวว่า ทางคณะได้จัดการติดต่อคณะฯอื่น เพื่อที่จะเปิดคอร์สให้นักศึกษาภาควิชา สถาปัตย์ ตกแต่งภายใน ได้ลงทะเบียนเรียน เพื่อที่จะจบหลักสูตร ผลที่ได้รับคำตอบจากลูกสาวคือ คณะได้ติดต่อเรียบร้อยแล้ว และนักศึกษาได้ลงทะเบียนเรียนอย่างถูกต้อง แต่ที่น่าจะนำมาเป็นบทเรียนให้ท่านผู้ปกครองได้ทราบไว้ คือ หากว่าบุตรหลานของท่านประสบปัญหาในการเรียน ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยอาจารย์ที่สอน หรือจากเจ้าหน้าที่ในฝ่ายอำนวยการ ท่านสามารถนำเรื่องเข้าปรึกษาท่านคณบดีได้ และกรุณานำบุตรหลานของท่าน ที่แต่งตัวอย่างเรีบยร้อย ตามกฎเกณฑ์ของคณะ เข้าไปพบด้วย ท่านคณบดี ได้เรียกลูกสาวข้าพเจ้าไปพบ และได้ทำการสอบถามถึงเรื่องที่เกิดขึ้น เนื่องด้วยลูกสาวเป็นเสมือนตัวแทนของแผนกที่เขาเรียนอยู่ หลังจากที่ท่านได้รับทราบถึงความยากลำบากของลูกศิษย์ท่าน ท่านได้เปล่งเสียออกมาอย่างไม่พอใจ และได้ทำการบันทึกเรื่องราวต่างๆที่เหล่านักศึกษาของท่านพบมา ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ ในแผนกทะเบียนทั้งสิ้น ท่านคณบดีหาได้ทราบเรื่องไม่ ท่านได้มีความกรุณาให้นักศึกษาเข้าพบพร้อมชี้แจงเรื่องต่างๆ ผมจึงเห็นว่าอย่างน้อยท่านผู้ใหญ่ในองค์กรนี้ ยังมีความยุติธรรมและมีความเอาใจใส่ ต่อความทุกข์และความยากลำบากของนักศึกษา ผมขออนุญาตเอ่ยนามของท่านคือ ท่านศาสตราจารยบ์ ดร. วิมลสิทธิ์ หรยางกูร ท่านคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการผังเมือง มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์และการเมือง


ผมขอกล่าวขอบพระคุณท่านคณบดีแทนลูกสาว และนักศึกษาอีก 29 คน ที่ท่านได้ใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา และหาทางออกที่ทุกคนมีความสุขครับ

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ใครคิดจะไปเรียนที่คณะสถาปัตย์ ม.ธรรมศาสตร์ โปรดอ่าน

สวัสดีครับเพื่อนๆและผู้ใฝ่รู้ทุกท่าน




วันนี้ผมไปที่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิิต เพราะได้รับทราบจากลูกสาวที่เรียนอยู่ที่คณะสถาปัตย์ ว่าไม่สามารถลงเรียนในวิชาที่คณะกำหนดไว้ ซึ่งเป็นวิชาเลือกเสรีบังคับ ผมอ่านแล้วก็งงเหมือนกันว่า ในเมื่อเป็นวิชาเลือกเสรีแล้ว ทำไมคณะต้องบังคับด้วย แต่นั่นไม่ใช่ใจความสำคัญ เรื่องที่สำคัญคือลูกสาวของผมและเพื่อนร่วมชั้น กำลังเรียนอยู่ในเทอมสุดท้ายซึ่งเหลือวิชาที่ต้องลงอีกไม่กี่วิชา แต่เผอิญมีอยู่วิชาหนึ่ง ที่คณะบังคับให้ลงเพื่อที่จะได้เก็บหน่วยกิตให้สมบูรณ์ แต่มีปัญหาตรงที่ลงทะเบียนไม่ได้ ในเวลานี้ทางมหาฯได้เปิดเรียนมาแล้ว 2 อาทิตย์ และลูกสาวพร้อมเพื่อนๆจะต้องลงทะเบียนให้เสร็จ หากไม่แล้วจะต้องถูกค่าปรับไปเรื่อยๆ เมื่อเทอมที่แล้ว ลูกก็ได้โทรฯหาผมเพื่อปรึกษา เพราะว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ที่ห้องทะเบียน บอกให้ไปถอนวิชาเลือกนี้ออก ด้วยเหตผลที่ว่า ทางต้นสังกัดภาควิชา ไม่อนุญาตให้ลง ทำให้ลูกและเพื่อนไม่สามารถลงได้ ลูกได้ไปสอบถามถึงสาเหตุ ก็ได้ความว่า คณะต้องตามไปจ่ายเงินให้ภาควิชานั้นๆเป็นจำนวนหลายหมื่นอยู่ และได้แนะนำลูกสาวให้ในเทอมหน้าซึ่งก็คือเทอมนี้ เรียกเพื่อนๆให้รวมตัวกันลงในวิชาเลือกวิชาเดียวกัน เพื่อที่ทางคณะจะได้ตามไปจ่ายเพียงครั้งเดียว มาเทอมนี้ลูกสาวได้ปฏิบัติตามและมีเพื่อนๆร่วม 30 คน ที่ตกอยู่ในฐานะเดียวกันได้พยายามที่จะลงทะเบียนในวิชาจิตวิทยา แต่ทางภาควิชาจิตวิทยาได้ปฏิเสท ไม่ยอมเปิดคลาสให้เรียน ลูกสาวในฐานะตัวแทนของกลุ่ม ได้มาติดต่อเจ้าหน้าที่คนเดิมที่แผนกทะเบียน แต่ได้รับคำตอบว่า ให้ไปติดต่อที่ภาควิชาจิตวิทยาเอง ลูกได้ไปปฏิบัติตามแต่ก็ไร้ผล และได้รวมตัวกันลงชื่อนักศึกษาปีที่ 4 ที่พบกับปัญหานี้ ส่งให้กับคณะฯเพื่อให้ทางคณะฯส่งหนังสือไปสอบถามภาควิชาจิตวิทยา แต่มาจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ แต่ได้รับคำแนะนำว่า ให้ไปลงในภาคเรียนฤดูร้อน ลูกสาวจึงโทรฯบอกผมเมื่อเช้า


หลังจากที่ได้ทราบถึงความยากลำบากของลูกสาว ผมได้เดินทางไปที่มหาวิทยาลัยทันที เพื่อสอบถามถึงสาเหตุ ผมไปถึงเมื่อเวลา 10.20 น. และได้ตรงขึ้นไปที่แผนกทะเบียนและประมวลผลของคณะสถาปัตย์ หลังจากที่ได้ความประสงค์ถึงสาเหตุ ก็ถูกเชิญให้นั่งรอ ผมก็นั่งรอ เพราะว่าระหว่างนั้นผมได้เรียกลูกสาวให้มาพบ เพื่อให้เขาเป็นผู้เล่าถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ผมรออยู่ประมาณ 30 นาที ระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่อยู่ 2 ท่าน แต่ท่านหนึ่งกำลังยุ่งอยู่กับ การลงทะเบียนของนักศึกษาท่านหนึ่งซึ่งโทรฯเข้ามา แต่เจ้าหน้าที่อีกคนซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ ก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ใช้คอมพิวเตอร์ดูข่าวซุบซิบเกี่ยวกับดาราไทย อย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว ผมอดทนรอจนลูกสาวมาถึง ก็ให้เขาเล่าเหตุการณ์ต่างๆให้ฟังโดยละเอียด จึงลุกขึ้นบอกกับเจ้าหน้าที่ทั้งสองว่า ต้องการพบเจ้าหน้าที่ที่บอกให้ลูกสาวไปลงในเทอมซัมเมอร์ ทั้งสองบอกว่ากำลังมีประชุม ไม่ว่างออกมาพบ ผมว่าหากเป็นเช่นนั้น ผมขอพบท่านคณบดี เพราะผมถือว่าลูกสาวเป็นลูกศิษย์ของท่าน และกำลังเดือดร้อน แต่เขาก็บอกว่าท่านคณบดีกำลังประชุม ออกมาไม่ได้ ต้องให้เสร็จก่อน ระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ก็เดินไปเรียกคนที่เคยคุยกับลูกสาวผมออกมา น้ำเสียงที่พูกกับผมในครั้งแรก ห้วนเป็นแบบมะนาวไม่มีน้ำเลย ผมเลยคิดว่า นี่ขนาดผมเป็นผู้ปกครองที่เสียเงินค่าหน่วยกิตให้คณะ ยังโดนขนาดนี้แล้วบรรดาเด็กๆจะโดนขนาดไหน ผมจึงยืนยันว่าคณะต้องหาทางออก และต้องรับปากว่าลูกและเพื่อนๆต้องได้ลงเรียนในวิชาเลือก และการที่จะให้ไปลงในซัมเมอร์นั้น ผมรับไม่ได้ เป็นความผิดของทางคณะเองที่เขียนหลักสูตรแบบนี้ ทำให้นักศึกษาพบกับความลำบาก การที่ให้เด็กๆไปวิ่งขอร้องภาควิชาอื่นให้เปิดนั้น เป็นการไปแก้ที่ปลายเหตุ ควรจะมามองที่ต้นเหตุคือ ที่คณะสถาปัตย์เอง

ผมได้ยืนยันกัเจ้าหน้าที่อีกครั้งว่า ผมมีความประสงค์ที่จะพบท่านคณบดี และผมหวังว่าท่านจะยินดีที่จะออกมารับฟังปัญหาของลูกศิษย์ ทั้งภาควิชาออกแบบตกแต่งภายใน( Interior Design ) เจ้าหน้าที่ท่านนี้ได้เข้าไปในห้องประชุม และได้ออกมาบอกให้ผมรอ ผมบอกว่าผมจะรออีก 15 นาที เพราะว่าผมได้รอมาแล้ว หนึ่งชั่วโมงครึ่ง และอีกเรื่องคือ ลูกสาวต้องเข้าเรียนในเวลา บ่ายโมงครึ่ง ผมต้องออกไปรับประทานอาหารกลางวันแล้ว หลังอาหาร ผมลองสุ่มกลับมาที่ห้องท่านคณบดี พบว่าท่านยังประชุมไม่เสร็จ แต่เจ้าหน้าที่ได้เชิญให้นั่งรอ ผมรอได้สัก สิบนาที ก็มีเจ้าหน้าที่คนเดิมออกมาบอกว่าประชุมเสร็จแล้ว พอท่านเดินมาเข้าห้องทำงาน ผมเห็นว่าท่านทำหน้าแบบไม่รับแขก และได้ขอเวลารับฟังปัญหากับเจ้าหน้าที่คนนั้น ตามลำพังภายในห้องทำงาน เมื่อท่านรับเรื่องแล้วท่านก็เดินออกมาพบ พร้อมกับพูดว่าไม่เป็นไร วิชาที่ลูกจะเรียนไม่เปิดก็ไม่ต้องไปเรียนมัน ให้เปลี่ยนไปลงในวิชาอื่น ซึ่งลุกสาวก็ตกลง แต่ผมได้ขอให้ท่านคณบดีรับปากว่า เด็กทั้งหมดสามารถลงเรียนวิชาเลือกนี้ได้ และสามารถจบภายในปีการศึกษานี้ ท่านก็รับปากแบบไม่ค่อยเต็มใจเท่าไรนัก ผมก็ได้เรียนต่ออีกว่าในเมื่อหลักสูตรมันไม่ดี ขอให้ท่านคณบดีเปลี่ยนแปลง และอย่าให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีก ท่านก็ได้รับปาก

เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ ผมเห็นว่าเป็นประสบการณ์ที่บรรดาผู้ปกครอง ควรรับทราบไว้ เพราะว่าเมื่อใดที่ลูกๆของเราตั้งใจเรียน แต่ไม่สามารถที่จะทำได้ตามใจปรารถนา ขอให้ท่านเข้ามาช่วยทำให้เหตุการณ์ต่างๆคลี่คลายไป เพราะว่าบางครั้ง เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในสถานที่ต่างคงจะลืมไปแล้วว่า พวกเขาอยู่ได้เพราะว่าคณะมีนักศึกษามาเรียน มิใช่คิดไปว่านักศึกษาเป็นตัวปัญหาที่พวกเขาพยายามหลีกเลี่ยง หรือพยายามที่จะกำจัดปัญหาให้พ้นๆไป โดยหวังว่าเด็กจะรามือไปเอง ผมเองก็ยังไม่เชื่อว่าเรื่องนี้จะจบลงด้วยดี ผมได้บอกลูกว่า หากเกิดเรื่องอะไรในลักษณะนี้อีก ให้บอกทันที ผมจะได้หาทางทำให้เรื่องจบโดยเร็ว ผมคิดว่าเรื่องทำนองนี้คงจะเกิดขึ่นมากครั้งอยู่ เพียงแต่เด็กๆต้องพยายามหาทางออกด้วยตัวเอง หากท่านใดมีปัญหาทางด้านการศึกษา อย่ารีรอที่จะถามนะครับ ส่งเรื่องมาได้ที่อีเมล์ของผม ยินดีช่วยให้คำปรึกษาหรือไปเป็นเพื่อนท่านได้ทุกเวลาครับ